วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

see: ครอบครัวสถาบันสร้างชาติ...



ครอบครัวสถาบันสร้างชาติ...


โดย adam



ประธานาธิบดีโฮจิมินห์เคยกล่าวว่า...ปลูกต้นไม้ใช้เวลา10 ปี...ปลูกคนต้องใช้เวลาถึง100ปี... ถ้าถามว่าสถาบันใดที่จะสร้างคนได้ดีที่สุด คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่จะบอกว่าสถาบันครอบครัว แล้วถ้าถามลึกลงไปอีกว่า...สถาบันครอบครัวแบบไหนที่จะสร้างคนให้มีคุณภาพมากที่สุดและต้องมีปัจจัยอะไรหรือมิติไหนที่จะผลิตเยาวชนออกมาสู่สังคมได้ดี ถ้าจะมีสิ่งชี้วัดในการกำหนดค่าของคนที่มีคุณภาพสิ่งไหนจะเป็นตัวกำหนด... ความจนหรือความรวยที่เป็นตัวกำหนดในการสร้างคนให้มีวินัย หรือว่าสภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนด หรือว่าการศึกษา หรือว่าต้องมียีนพันธุกรรมที่ดีของคนจึงจะช่วยให้สังคมดีได้  หรืออะไร....มันเป็นคำถามอีกหลายร้อยประโยคที่อยากถามและกำลังรอคำตอบ...
ถ้าใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นตัวชี้วัดคุณภาพคน วันนี้เราเห็นอะไรที่เกิดขึ้นในสังคมบ้าง.. ความวุ่นวายเกิดขึ้น การไร้ระเบียบวินัยของสังคม เด็กไม่เคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ไม่เมตตาเด็ก การเห็นแก่ตัวเองมากกว่าการเห็นแก่ส่วนรวม การขาดความอดทนของคนรุ่นใหม่ คนที่มีอำนาจใช้อำนาจไปในทาง ที่ตัวเองและพวกพ้องได้รับประโยชน์ ฯลฯ 
ในส่วนที่ดีของคนสังคมก็มี แต่นับวันจะเริ่มจางหายจากจิตใจของคนไปที่ละน้อย ในสังคมเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่วัดกันที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจและจำนวนธนบัตรที่มากหรือน้อยกว่าในกระเป๋าของผู้คน ...
ครอบครัวในยุคปัจจุบันต้องเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมเมือง ปัจจัยแวดล้อม  โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจ สังคม  และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัฒน์  และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี่สมัยใหม่ทำให้ มีผลกระทบต่อแบบแผนในการดำเนินชีวิตของครอบครัว  จะเห็นได้ว่าครอบครัวคนไทยมีลักษณะหลากหลายยิ่งขึ้น   และสมาชิกในครอบครัวมีวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนของสถาบันครอบครัว การหย่าร้างมีตัวเลขเพิ่มขึ้น ทั่วประเทศมีการหย่าร้างนับแสนคู่ ในปี 53  ความสัมพันธ์ ระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว เวลาที่อยู่ด้วยกันน้อยลงช่องวางต่างๆเริ่มมีมากตามความจำเป็นในพื้นฐานของแต่ละครอบครัวและโครงสร้างทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติถ้าสถาบันครอบครัวไม่ได้มีกลไกลที่ดีในกาผลิตเยาวชนที่มีคุณภาพออกสู่สังคม
ความยากจน เป็นกลไกลหนึ่งที่ทำให้ระบบครอบครัวจำนวนมากประสบปัญหาความ เดือดร้อนด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดช่องวางมากมายระหว่างคนจนและคนรวย การแพร่ระบาดของยาเสพติดพบมากในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 - 24 ปี ทั้งหญิงและชาย  สาเหตุของปัญหาส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญ บิดามารดาหย่าร้าง เด็กขาดความอบอุ่น ได้รับการเลี้ยงดูแบบอิสระปล่อยตามสบาย ทำให้ขาดที่พึ่ง หรือการชี้แนะให้คำปรึกษาที่ดีสมเหตุสมผล  ทำให้ขาดการควบคุมตนเอง ไม่รู้ทิศทางในการดำเนินชีวิต  และเพื่อนมีส่วนสำคัญที่ชักจูงให้เริ่มใช้ยาเสพติดบวกกับ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การกระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรีในครอบครัว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี สัมพันธภาพภายในครอบครัวเสื่อมถอยลง พ่อ-แม่-ลูก ไม่ได้ทำบทบาทหน้าที่ของตนเต็มที่ ละเลยการอบรมปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรม ค่านิยม เด็กถูกทอดทิ้ง  ไม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูเพื่อให้มีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย ขาดความรักความเอาใจใส่จากพ่อแม่ ถูกปล่อยปละละเลย ปฏิสัมพันธ์ของครอบครัวที่มีต่อชุมชนและสังคมมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่มีลักษณะต่างคนต่างอยู่มากขึ้น จึงเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง  เพราะการที่สมาชิกในสังคมไม่ได้สังสรรค์ร่วมมือกัน  โอกาสที่จะสร้างพลังในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติจะเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น
รศ.นพ.วิชัย  เอกพลากร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นักวิจัยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย เครือข่ายการวิจัย สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า  จากการสำรวจสุขภาพเด็กในด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และจริยธรรม  โดยการสอบถามตัวอย่างเด็กและผู้ปกครองเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านต่างๆ ในกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 1-14 ปี จำนวนเกือบ 1 หมื่นราย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม  คือ 1 กลุ่มวัย 1-5 ปี  2 กลุ่มวัย 6-9 ปี และกลุ่มที่ 3 วัย 10-14 ปี  พบว่า เด็กอายุ 1-5 ปียังมีปัญหาเรื่องการทำตัวไม่อยู่ในกติกาและไม่อยู่ในวินัย วัย 6-9 ปี ไม่มีการควบคุมอารมณ์ สมาธิและไร้เมตตา ขณะที่เด็กวัย 10-14 ขาดการวิเคราะห์และหากมีโอกาสโกงก็พร้อมจะโกงได้ ประเด็นดังกล่าวน่าห่วงมาก   โดยเด็กยอมรับว่า รับได้กับการไม่เคารพกติกา เช่น เล่นขี้โกงเมื่อมีโอกาสและ ลอกข้อสอบถ้าจำเป็น
                ด้าน รศ.พญ.ลัดดา  เหมาะสุวรรณ นักวิจัยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย เครือข่ายการวิจัย สวรส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ควรให้น้ำหนักต่อการพัฒนาเด็กในด้านวุฒิภาวะด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และจริยธรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่นๆ  ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการดำรงชีวิตของบุคคลและเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในชีวิตยิ่งไปกว่าปัจจัยด้านความฉลาดทางสติปัญญา ซึ่งการศึกษาวิจัยระยะยาวในต่างประเทศ บ่งบอกว่า ระดับเชาวน์ปัญญาหรือ IQ มีผลต่อความสำเร็จในชีวิตเพียงร้อยละ 20  ในขณะที่พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมร่วมกับพัฒนาการด้านสติปัญญาที่สมวัยในวัยต้นของชีวิตเป็นรากฐานที่สำคัญของพัฒนาการด้านภาษา ด้านสติปัญญา และด้านจริยธรรมในขั้นต่อๆ ไป และจากศึกษาติดตามระยะยาวจากเด็กจนเป็นผู้ใหญ่ พบว่า ระดับเชาวน์ปัญญาในวัยเด็กมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในชีวิตการงานและระดับเงินเดือนค่อนข้างน้อย ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ควบคุมความขัดแย้งและการเข้ากับคนอื่นได้ง่ายกลับมีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น
ครอบครัวอบอุ่น คือครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ การ มีครอบครัวที่อบอุ่นทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข คนที่มีครอบครัวอบอุ่นย่อมมีความได้เปรียบ เพราะสามารถ ทำหน้าที่ได้เหมาะสม และทำให้สมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพจิตดีไปด้วยความผูกพันเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ครอบครัวอบอุ่นครอบครัวจะมีแรงผลักดันอยู่ ๒ แรงที่ต่อสู้กันอยู่เสมอคือ แรงที่ดึงสมาชิกให้เข้าหากัน เป็นอันหนึ่งอันเดียว กัน ทั้งความคิด ความรู้สึก การกระทำ และแรงผลักดันที่ทำให้สมาชิกอยู่ห่างออกจากกัน เพื่อใช้ชีวิตอย่างอิสระและเป็นตัวของตัวเอง
ครอบครัวที่ผูกพันแน่นแฟ้นเกินไป ต้องทำทุกอย่างที่พ่อและแม่ต้องการ ผลของความผูกพันที่มากเกินไปนั้น จะทำให้สมาชิกในครอบครัวไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยเด็กจะพึ่งพ่อแม่โดยตลอดเวลา เด็กจะคิดไม่เป็นไม่รู้จักโตขาดภาวะผู้นำเมื่อโตขึ้น และการถูกตามใจมากเกินไปทำให้เด็กไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ตัวเองได้เมื่อโตขึ้น
ครอบครัวที่เหินห่างทางอารมณ์ สำหรับครอบครัวที่ผูกพันระหว่างกันน้อย แม้สมาชิก ในครอบครัวจะมีอิสระมาก ก็จะเป็นความอิสระที่ไม่สมบูรณ์ เพราะขาดความรู้สึกที่พึ่งพิงกันในยามจำเป็น การที่ต่างคนต่างอยู่จะทำให้ไม่สามารถร่วมทำภารกิจที่สำคัญให้สำเร็จได้ เช่น ครอบครัวที่พ่อกับแม่ไม่มีความผูกพันใกล้ชิดกัน ย่อมไม่สามารถร่วมมือกันปกครองลูกได้
ความผูกพันทางอารมณ์ที่เหมาะสมที่สุดคือ ความผูกพันระดับกลาง เพราะคนในครอบครัวจะมีความเป็น อิสระ แต่ยังคงความผูกพันกับครอบครัวเดิมอยู่ ทั้งนี้ การจะมีครอบครัวที่อบอุ่นได้นั้น ครอบครัวจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความเป็นอิสระและความผูกพันกับครอบครัวอย่างเหมาะสม
ผู้นำในครอบครัวบทบาทผู้สร้างความอบอุ่นในครอบครัว ทุกครอบครัวต่างต้องมีผู้นำในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาต่างๆได้ แต่ความเป็นผู้นำไม่ควรถูกจำกัดให้อยู่กับ คนใดคนหนึ่ง เช่น พ่อไม่ควรเป็นผู้นำคนเดียว หรือ แม่ไม่ควรเป็นผู้นำคนเดียว เพราะหากครอบครัวต้องตกอยู่ในภาวะความตึงเครียด ผู้เป็นพ่อและแม่ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และร่วมกันเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จากการศึกษา พบว่า วัยรุ่นในครอบครัวที่พ่อเป็นผู้นำในแบบประชาธิปไตย จะมีความมั่นคงทางอารมณ์มากกว่าวัยรุ่นที่มาจากครอบครัวที่พ่อหรือแม่มีอำนาจเพียงคนเดียวดังนั้น หากต้องการมีครอบครัวที่อบอุ่น สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวจะต้องมีบทบาทความเป็นผู้นำในวาระที่แตกต่างกันออกไป เช่น แม่จะเป็นผู้นำและเป็น ผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลครอบครัวและการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องอาหารการกินในบ้าน ส่วนพ่อจะเป็นผู้นำในเรื่องที่สำคัญ เช่น เรื่องภายนอกบ้าน และสมาชิก ในบ้านควรมีส่วนในการสนับสนุนความคิดของผู้นำในครอบครัว
ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณเขียนไว้ในหนังสือ เลี้ยงลูกถูกวิธี ชีวีเป็นสุข ว่าคุณสมบัติที่ควรปลูกฝังให้กับเด็กคือการมีอารมณ์ร่าเริง แจ่มใส มีความรักตัวเองและคนอื่นได้ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าสามารถพึ่งตนเองได้ มีความรับผิดชอบสามารถแสดงออก ไม่เก็บกดมีความมั่นใจในตนเองมีค่านิยมที่ถูกต้องมีจิตใจมั่นคงมีความคิดสร้างสรรค์มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดีสามารถแก้ปัญหาเป็น มีอารมณ์ขัน อยากมีส่วนช่วยเหลือสังคม มีความเป็นผู้นำ รู้สึกอยากเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น รักการอ่าน รู้จักคิดแยกแยะเรื่องต่างๆคิดไตร่ตรองเป็น ไม่ใช่จดจำเพียงอย่างเดียวรู้จักรักษาสิทธิของตนดูคนเป็น รู้เท่าทันคนสามารถเข้าถึงจิตใจผู้อื่น  (เข้าใจ เห็นใจผู้อื่น)ใจกว้าง สามารถรับฟังคำติชมมีความสนใจในกีฬา ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม
ช่วงนี้อยู่ในช่วงปิดเทอมเด็กหลายคนไม่ต้องไปโรงเรียน การเรียนในห้องเรียนอาจหยุดลงชั่วคราว แต่การเรียนด้านชีวิตของลูกน้อยไม่ได้หยุด  ลูกจะศึกษาพฤติกรรมของพ่อแม่ ไม่ว่าพฤติกรรมนั้นจะเป็นอย่างไร พ่อแม่คือบทเรียนแรกและสำคัญที่สุดของลูกในการเลียนแบบ   แม่พิมพ์ชีวิตถูกออกแบบโดยพ่อแม่  ครอบครัวเป็นการเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์ และคนที่ถูกผลิตจากครอบครัวเป็นการเติมเต็มสังคมให้สมบูรณ์ และหลายๆสังคมที่ถูกผลิตเป็นการเติมเต็มให้กับประเทศชาติสมบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น