วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

‘Low Carbon Tourism’ เที่ยวชิคๆ แบบลดคาร์บอนบนเกาะหมาก



                   

                    ‘Low Carbon Tourism’ เที่ยวชิคๆ

แบบลดคาร์บอนบนเกาะหมาก
         
  19.74 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และ 47,835 ตัน/ปี คืออัตราการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในบริเวณพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ซึ่งหมายถึงหมู่เกาะช้าง 52 เกาะ เกาะกูด เกาะหมาก และชายฝั่งตราดบางส่วน
จากตัวเลขที่ค่อนข้างสูงจนน่าตกใจข้างต้น ทำให้เกิดการผนึกกำลังจากหลายภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมกันทำการสำรวจวิจัยในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จนกระทั่งเกิดเป็นโครงการ “Low Carbon Tourism” ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ได้จุดประกายให้เกิดขึ้น มีเป้าหมายเพื่อมุ่งสร้างความตระหนักในการลดการใช้พลังงาน อันจะนำไปสู่การลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน

นับว่า “Low Carbon Tourism” เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์และเครื่องมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน เพราะทุกทริปการท่องเที่ยวนั้นเป็นการเพิ่มต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ไม่มากก็น้อย ทั้งมลพิษในอากาศที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการเดินทาง รวมทั้งขยะมูลฝอยจากอาหารที่เรารับประทานในระหว่างการเดินทาง เป็นต้น

เกาะหมาก .ตราด คือหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Low Carbon Destination และจะพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต โดยจะส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาแยกขยะ ลดการใช้พลังงาน สร้างพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาทดแทน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแปรรูปขยะนำกลับมาใช้ใหม่ และส่งเสริมนักท่องเที่ยวหันมาลดการใช้พลังงานและเครื่องจักร มาเป็นการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือพายเรือ เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนที่ตนเองไปเยี่ยมเยียน
นอกจากนั้น ฝั่งผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท หรือร้านอาหาร ฯลฯ ก็ยังส่งเสริมให้มีการหันมาใช้เครื่องมือบริหารโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสภาวะอากาศ มีการติดตั้งบ่อหมักก๊าซชีวภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการใช้แก๊สหุงต้ม และการจัดการขยะที่มีกว่า 10,000 ตัน ให้เป็นพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยให้ความสำคัญกับการดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตชุมชน อีกทั้งมีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ที่เกาะหมาก .ตราด มุ่งสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้นทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม


“Low Carbon Tourism” เป็นการท่องเที่ยวที่ดีทางเลือกหนึ่งที่ควรสนับสนุน แต่ทั้งหมดย่อมขึ้นอยู่กับจิตสำนึกที่ดีของนักท่องเที่ยว คนในชุมชนแหล่งท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในพื้นที่ ต่อการรักษาสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของพวกเราทุกคน เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต และเพื่อยืดอายุให้โลกใบนี้ไปได้อีกนานๆ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น