วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทัวร์ ‘สุโขทัย’ แบบละเลียด



ทัวร์ สุโขทัย แบบละเลียดๆ

เรื่องภาพ(อดัมชินจัง) 




จังหวัดสุโขทัยเป็นจังหวัดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการมาท่องเที่ยวและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ สุโขทัยในอดีตเคยเป็นราชธานีแห่งแรกของชาติไทยเมื่อ 700 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นเมืองที่มีความยิ่งใหญ่มากเมืองหนึ่ง อาณาบริเวณจากหลักฐาน ปรากฎว่า แผ่ขยายไปถึงหลวงพระบางจนสุดถึงแหลมมลายู ในทางทิศตะวันตกติดเขตแดนเมาะตามะ  

อาจารย์ อาลี เสือสมิงได้นิยามประวัติศาสตร์เอาไว้ว่า ประวัติศาสตร์ คือ เหตุการณ์ปัจจุบันของคนในอดีต ซากเมืองเก่าของสุโขทัยทั้งหมดที่มีร่องรอยหลักฐาน บอกให้เรารู้ว่า นั้นคือภาพความเป็นปัจจุบันของคนในอดีตทั้งสิ้น ที่ครั้งหนึ่งเมืองสุโขทัยเคยยิ่งใหญ่ และมีความอุดมสมบูรณ์

การเที่ยวแบบละเลียดน่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับการมาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และชุมชนใกล้เคียงก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจในการเรียนรู้เที่ยวชม ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ โอกาสดีที่ผมได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่พัฒนาการท่องเที่ยวจาก อพท. ที่มีชื่อเต็มว่าองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) จึงได้วางแผนมาเที่ยวสุโขทัยตามเส้นทางที่เจ้าหน้าที่ท่านนั้นแนะนำ ซึ่งเขาย้ำว่าให้มาเที่ยวแบบละเลียดทัวร์

จักรยานเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้ดีที่สุด เพราะจักรยานจะพาคุณไปตามตรอกซอกซอยได้อย่างตามใจปรารถนา การมีความรู้ก่อนที่จะมาท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่น่ากระทำอย่างยิ่ง เพราะนักท่องเที่ยวเองสามารถที่จะเข้าใจและเห็นภาพได้ง่าย  พูดง่ายๆ  คือเมื่อเรามีความรู้มาก่อน เราจะมีภาพประวัติศาสตร์ในหัวก่อนการเที่ยวชม จะทำให้การเที่ยวชมออกรสชาติมากยิ่งขึ้น เหมือนเสียบปลั๊กแล้วติดเลย มันจะดีกว่าการมาเที่ยวแค่ได้เห็นและกลับไป ไม่ได้ซึมซับประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชรภายใต้ชื่อว่า “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร” โดยองค์การ UNESCO เมื่อเดือนธันวาคมพ.ศ. 2534
การที่เราได้ออกแรงปั่นจักรยาน นับว่าเป็นการเที่ยวเรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบ SlowTravel ทางหนึ่ง หรือจะเรียกง่ายๆ เที่ยวแบบละเลียด ค่อยๆ ถีบ คอยๆ ปั่น และค่อยเรียนรู้ ได้เห็นประวัติศาสตร์อย่างเนิบช้า

ทริปนี้ผมอยู่ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย
จากประตูทางเข้า ด้านขวามือ คือ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรละเลยเข้าไปสักการะ เนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณด้านภาษาไทย ที่เรียกว่า ลายสือไท ที่ทำให้เรามีอักษรเขียนจนทุกวันนี้

ทางด้านซ้ายมือ คืออลังการวัดมหาธาตุวัดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองนักท่องเที่ยวที่รักการถ่ายรูปพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง ในการที่จะมาเยือนและถ่ายภาพสักครั้ง เพราะนอกจากที่เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้วยังเป็นสนามฝึกการถ่ายภาพได้ดีอีกด้วย ไม่ว่าจะถ่ายแนวขาวดำหรือว่าภาพสี ก็ได้หลายอารมณ์ ประมาณว่าเดินถ่ายได้เกือบจะทุกมุมมอง แต่ถ้าได้มองจากความรู้สึกข้างใน มันทำให้จิตใจเราอิ่มเอิบอย่างไรบอกไม่ถูกต้องมาสัมผัสเอง ถึงจะรู้
ในบริเวณรอบอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจะมีวัดอยู่มากมายนอกจากวัดมหาธาตุ เช่น วัดตระพังเงินวัดสระศรีวัดพระพายหลวงวัดศรีชุมหรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่าพระพูดได้วัดช้างล้อมวัดเชตุพนทั้งหมดนี้ถือเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยทุกวัดที่ได้กล่าวมาแล้วล้วนมีประวัติและความเป็นมาแทบทั้งสิ้น ในเว็บไซต์และหนังสือประวัติศาสตร์หลายๆเล่ม ได้เขียนเอาไว้อย่างมากมาย มีความเหมือนหรือคล้ายๆกันไปหาอ่าน ผมคงไม่เขียนซ้ำ กลัวจะน่าเบื่อ
        
การมาเที่ยวเมืองเก่าสุโขทัยการมาเป็นครอบครัวก็นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีกิจกรรมหนึ่ง สำหรับเด็กๆการได้สัมผัสกับประวัติศาสตร์ของจริง ก็จะทำให้เด็กได้ซึมซับประวัติศาตร์ได้อย่างง่ายดายแต่ถ้าเดินทางไปกับคนรู้ใจก็จะเป็นสถานที่โรแมนติกอีกฉากที่ได้เก็บไว้ในความทรงจำ

เมื่อเราปั่นจักรยาน ชมสถานที่ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ก็อยากแนะนำให้ปั่นต่อไปตามชุมชนต่างๆที่อยู่รอบอุทยานฯ ทั้ง12ชุมชน รอบเมืองสุโขทัย ความเป็นชุมชนดั้งเดิม ทำให้มีกิจกรรมหรือวิถีชีวิตพื้นบ้านของคนในชุมชนให้เห็น เช่นชุมชนบ้านใหม่ตระพังทอง อยู่ระหว่างวัดตระพังทองกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหงเป็นชุมชนที่มีบ้านหลายหลังทำเครื่องปั้นดินเผาที่เรียกว่า สังคโลก อยู่ในบริเวณนั้น นอกจากจะไปหาซื้อเป็นของฝาก หรือนำไปตกแต่งบ้านแล้ว นักท่องเที่ยวก็สามารถทดลองทำได้ไม่ว่าจะปั้น หรือเขียนลายไม่ว่าจะอันไหนก็ต้องใช้ความพยายามเหมือนกันครับ การปั้นด้วยแท่นหมุน ก็ต้องค่อยๆ ใช้มือประครองดินให้ขึ้นรูปตามแต่รูปทรงที่ต้องการ ซึ่งสังคโลกของสุโขทัย ก็มีทั้งโถ ไห ถ้วย ชาม ส่วนการเขียนลาย แนะนำว่าคนอ่อนวิชาศิลปะควรเริ่มต้นเขียนที่จานปลาหรือถ้วยเล็กๆ ก่อนครับ ลวดลายบนเครื่องสังคโลกโดยมากจะเป็นลายปลา ซึ่งคำโบราณเรียกว่าปลาก่า ลายดอกไม้ ลายเครือเถาหรือลายพรรณพฤกษา ลายนก ผมว่า การเขียนลายเป็นวิธีฝึกสมาธิที่ดีมากครับ คนซนๆ อย่างผมนิ่งไปเลยเมื่อได้จับพู่กันแล้วจุ่มหมึกสีดำบรรจงวาดไปบนจานเล็กๆ กว่าจะสร้างสรรค์งานฝีมือหนึ่งเดียวในโลกชิ้นนี้เสร็จ ผ่านไปเกือบชั่วโมงครับ เมื่อเสร็จแล้วทางร้านจะเอาไปเคลือบ และเผา แต่ผมยังไม่สามารถนำกลับไปได้ทันทีครับ เพราะการเผาจะต้องรอเผารวมกับของชิ้นอื่นๆ อีกหลายชิ้นให้เต็มเตาเผา ฉะนั้น เหมือนจะเป็นกุศโลบายให้ผมตื่นเต้นระหว่างที่รอรับงานฝีมือหนึ่งเดียวในโลกของตัวเอง ฉะนั้น เมื่อชิ้นงานเรียบร้อยแล้วทางร้านก็จะส่งไปให้ถึงที่บ้านเลยครับ

อีกชุมชนที่อยากแนะนำก็เป็นชุมชนบ้านเหนือ ตั้งอยู่ในซอยข้างร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เยื้องกับตลาดเมืองเก่า ที่มีการแกะสลักปลาตะเพียน จากไม้สัก วิธีการก็ไปนำเศษไม้จากชุมชนใกล้เคียงมาแล้ว ใช้ขวาน ฟันลงไปจนเป็นเคล้าโครงของปลา จากนั้นก็นำมาขัด และเขียนลาย ชุมชนนี้จะทำไม้แกะสลักทั้งซอย บางบ้านก็ดัดแปลงทำเป็นมือเอาไว้วางขวดไวน์  


แต่ที่อยากแนะนำเป็นพิเศษคือขนมแดกงา ของชุมชนนี้ ฟังชื่อก็ดูแปลกแล้วใช่ไหมครับ ขนมแดกงาเป็นขนมพื้นบ้าน ที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อายุก็ประมาณ 700กว่าปี ขนมแดกงานั้นมีวิธีคิดของภูมิปัญญาพื้นบ้านรวมอยู่ด้วย คือการเก็บหรือถนอมอาหารนั้นเอง วิธีทำ ก็คือนึ่งข้าวเหนียวจนสุกแล้วเอาไป ตำตอนร้อนๆ และใส่งาลงไป และตำอีกครั้งให้งากับข้าวเหนียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คำว่าแดกงา มันมาจากการตำนั่นเอง คือ การตำไปแรงๆ กระแทกลงไป ชาวบ้านก็เรียกว่าขนมแดกงา ผู้เขียนเองก็ได้ลองทำ สนุกดี อยากจะแนะนำให้มาตอนเย็นๆ จะได้เห็นวิธีทำ และได้ชิม ขนมแดกงาแบบทำเสร็จใหม่ๆ ถ้ามาไม่ทันก็ไปหาซื้อที่ตลาดได้ ห้ามเกิน8โมงไม่อย่างนั้นหมดอดกิน

วิถีของชุมชนที่อยู่รอบเมือง ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทุกบ้านทำนาเหมือนกันหมด การแกะสลักปลาตะเพียน ก็เป็นการทำในเวลาว่างจากการทำนา เพื่อเอามาให้ลูกหลานเล่น ส่วนขนมแดกงานั้นจะทำก็เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ ตอนเอาข้าวเข้ายุ้งฉางแล้ว ก็จะมีพิธีบุญรับขวัญข้าวโดยมีขนมแดกงาในงานบุญนั้นด้วย และอีกหลายชุมชนก็มีวิธีคิดในการทำสิ่งของพื้นบ้านคล้ายๆกัน คือเมื่อว่างจากการทำนา 

ความเป็นชุมชนที่นี้จะไม่ใหญ่มาก ปั่นข้ามซอยก็เป็นอีกชุมชนแล้ว ของดีจากชุมชนรอบเมืองยังมีอีกหลายๆอย่าง และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ การเที่ยวแบบเชื่อมโยงกับชุมชนเป็น การท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งในแนวทางการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน เพราะค่าใช้จ่ายที่ผมได้จ่ายออกไป ผมมั่นใจว่าจะกระจายไปสู่ชุมชนอย่างแท้จริง










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น