วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บทบาทสื่อ...... ทีสังคมต้องการ


บทบาทสื่อ......  ทีสังคมต้องการ

โดย adam
 


       ในสังคมยุคข่าวสาร (Information age)  สารสนเทศถือว่ามีความสำคัญกับปัจเจกชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการตัดสินใจใดๆ ต้องอาศัยข้อมูลสารสนเทศมาประกอบการตัดสินใจ เมื่อเข้าสู่ยุคสังคมข่าวสาร  สารสนเทศได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของมนุษย์ที่ต้องการรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและแม่นยำ     
จอร์จ เกิร์บเนอร์ (George Gerbner) นิยามการสื่อสารว่าเป็น “พฤติกรรม” หรือกระบวนการถ่ายทอดข้อมูล ข่าวสาร ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ทักษะ ฯลฯ โดยการใช้สัญลักษณ์ ซึ่งอาจเป็นคำพูด หนังสือ ภาพ ตัวเลข กราฟ
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อาศัยการติดต่อสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญ  ในการเชื่อมโยงสายใยระหว่างกัน เริ่มตั้งแต่การสื่อสารกับตัวเอง การสื่อสารแบบพูดปากต่อปากระหว่างบุคคลในครอบครัว และการสื่อสารกับสังคมโดยผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็น สื่อสิ่งพิมพ์ คือ หนังสือพิมพ์ นิตยาสาร หรือสื่อไฟฟ้า คือ วิทยุโทรทัศน์ วิทยุ กระจายเสียง ภาพยนตร์ อินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคสังคมสารสนเทศ ที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างรวดเร็ว ในรูปแบบของโซเชียลมีเดีย
ประเด็นหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในหมู่นักวิชาการและผู้สนใจติดตามข่าวสารบ้านเมืองมากในประเด็นหนึ่งคือ สื่อควรดำเนินบทบาทในลักษณะใด ในการนำเสนอข่าว ขณะที่บางส่วนเห็นว่าสื่อมวลชนควรเน้นบทบาทของการเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม โดยรายงานเหตุการณ์ไปตามที่พบเห็นอยู่ตรงหน้า แต่บางส่วนกลับเห็นว่าสื่อ สามารถเป็นผู้ชี้นำสังคมได้ สื่อมวลชนซึ่งนับได้ว่าคลุกคลีอยู่กับเหตุการณ์ย่อมรู้ดีถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของเรื่องราวที่เกิดขึ้นทุกวันดังนั้นสื่อจึงมีบทบาทในการพิทักษ์ความถูกต้องและประณามสิ่งที่เห็นว่าชั่วร้าย
    ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล กล่าวว่า“สื่อกระแสหลักจะต้องยึดความจริง มีวินัยในการตรวจสอบความจริง ทุ่มเททุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรการเงิน กำลังแรงงาน ความเหนื่อยยาก ที่จะนำความจริงมาให้สาธารณชน และจงรักภักดีต่อสาธารณชน ทั้งนี้ในโลกปัจจุบันมี สื่อใหม่เกิดขึ้น ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือเว็บบล็อกทำให้สังคมมีทางเลือกในการรับสื่อมากขึ้น ข้อนี้ทำให้สื่อต้องย้อนถามตัวเองว่าจะอยู่ต่อได้อย่างไร ในโลกที่เข้าสู่ยุคละเอียดอ่อนมากในการรับรู้ข่าวสาร ในโลกยุคเทคโนโลยีการสื่อสาร คลื่นความถี่ดิจิตัล อนาล็อก แซทเทิลไลท์ และไฟเบอร์ เป็นสิ่งที่ปิดกั้นไปก็เปล่าประโยชน์ แม้จะปิดไปก็สามารถเปิดใหม่ได้ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล กล่าว
สื่อหลายๆสำนักรู้ดีว่าหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่กำลังประสบปัญหาการชะลอตัวทั้งในด้านโฆษณาและยอดตีพิมพ์    ถ้าเรามองย้อนกลับไปเพียงไม่กี่ปี เราจะเห็นว่าอินเทอร์เน็ตกำลังกลายมาเป็นเครื่องมือสื่อสารชิ้นใหม่ที่ทรงพลังให้กับสังคม ข่าวสารบางเรื่องที่สื่อกระแสหลักไม่สามารถรายงานได้ ด้วยกับเหตุผลในด้านธุรกิจ หรือปัจจัยอื่นๆ ทำให้เกิดช่องวางในการรับรู้ข่าวสาร สังคมโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นก็เป็นทางออกในการหาอ่านข่าวที่คนต้องการจะรู้ในมุมที่สื่อกระแสหลักไม่มี ข้องดีอีกอย่างคือเวลาคนรับข่าวสารก็สามารถส่งสารกลับออกไปได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนข้อเสียคือข้อมูลทีได้รับในอินเทอร์เน็ตจะมีทั้งข้อมูลจริงและไม่จริงอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ผู้อ่านส่วนหนึ่งจึงเคลื่อนย้ายการอ่าน ออกจากหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษ มาอ่านในสื่ออินเตอร์เน็ตมากขึ้น ในปัจจุบันจำนวนคนใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีประมาณยีสิบกว่าล้านคน
ดร. บัณฑิต นิจถาวร กล่าวว่า เราคาดหวังอะไรจากสื่อไทย คนที่อ่านข่าวต้องการอะไร ถ้ามองในฐานะผู้อ่านข่าว  คนอ่านข่าวต้องการสามอย่าง คือหนึ่งความเป็นจริงเท่าที่เกิดขึ้นในสังคม สองความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่อยากจะเข้าใจ และสามเป็นเวทีให้คนในประเทศสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ผมคิดว่าสามสิ่ง ที่คนซื้อหนังสือพิมพ์คนฟังวิทยุ คนดูทีวีอยากจะได้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือ สิ่งที่ถูกเตรียมมา ว่าวันนี้จะทำเรื่องอะไร จะพูดในแนวไหน คือมีโจทย์หมดเลย อ่านหนังสือพิมพ์สองฉบับ เรื่องเดียวกันผาดหัวข่าวไม่เหมือนกัน โทนข่าวไม่เหมือนกัน นี้คือช่องวางที่ถูกสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ นับยิ่งวันมันจะยิ่งชัดยิ่งแบ่งเป็นสองข้างจนเป็นสองความคิด ที่เป็นแบบนี้ผมคิดว่าสื่อขาดความเป็นกลาง ทุกคนดูเหมือนจะมีความเป็นโทนของตัวเอง หนังสือพิมพ์สร้างและทำลายกับคนได้ เขียนทุกวันก็พูดไม่ได้ ชมทุกวันเดี๋ยวก็ดีไปเอง ลงรูปนิดๆทุกวันก็ดูดีไปเอง ถ้ามองในแง่นี้ผมคิดว่าสื่อต้องกลับมาสู่ความเป็นกลางในการทำหน้าที่
น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กล่าวว่า “การเมือง มีผลต่อสื่ออย่างรุนแรง ทำให้เกิดการแบ่งฝ่าย เกิดสื่อเลือกข้าง ควรหรือไม่ควร ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าเมื่อไหร่สื่อเลือกข้าง จงเปิดเผยตัว อย่าทำเหมือนโฆษณาแฝงในละคร ชักจูงให้คนหลงเชื่อ เมื่อใดก็ตามที่อยากบอกข้อมูล ต้องทำให้ชัด จะเชื่อหรือไม่เป็นเรื่องของผู้ชม แต่เมื่อไหร่ที่ปกปิดตัวเอง เบี่ยงเบนสถานะตัวเอง ผิดอย่างแน่นอน”
ดร. บัณฑิต นิจถาวร มองว่า ที่สังคมอ่อนแออยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเพราะว่าสื่ออ่อนแอ ต้องยอมรับ สื่อสามารถชี้นำสังคมได้ เนื่องจากสังคมมีความเข้าใจในปัญหาต่างๆน้อยมาก อะไรจะถูกจะผิดอยู่ที่สื่อชี้  ผมจำได้ครั้งหนึ่งมีการปฏิวัติในประเทศไทย ประชาชนไม่รู้ว่าที่ปฏิวัติไปนี้ถูกหรือผิด จนกระทั้งมีสื่อฉบับใหญ่ฉบับหนึ่ง ผาดหัวข่าวช่วงบ่าย ว่าผู้ถูกปฏิวัติหนี  อันนี้ก็เป็นการตัดสินไปแล้ว ว่าการปฏิวัตินั้นถูกและผู้ถูกปฏิวัติผิด นี้เป็นภาพสะท้อนว่าสื่อสามรถที่จะชี้นำความคิดของสังคมได้ นี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าพลังของสื่อมีมาก คำถามคือว่าที่ผ่านมาเราได้ใช้พลังอันนี้ ทำในสิ่งที่จะสำรวจความคิดของคนให้มาแก้ไขปัญหา
ค่านิยมอะไรที่คนๆหนึ่งจะมาทำหน้าที่สื่อมวลชน  สิ่งที่คุณมีในการทำหน้าที่สื่อมวลชนคืออะไร หนังสือพิมพ์หรือสื่อที่ไปได้ยาวๆ อยู่ได้เป็นร้อยๆปีในต่างประเทศ เขามีปฏิญาณอุดมการณ์ชัดเช่น ว่าเขาเป็นสื่อเพื่ออะไร ยกตัวอย่างหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในต่างประเทศ เขาบอกเลยว่าจะสนับสนุนเรื่องของตลาด การทำงานของตลาด สื่อฉบับนั้นก็จะรายงานข่าวตามความเป็นจริง บทวิเคราะห์ต่างๆที่ออกมา จะโจมตีเรื่องที่มีการแทรกแซงตลาดเสมอ ข้อนี้มันชัดเจน คนอ่านก็รู้ว่านี้คือแนวของเขาที่ซื้อเพราะชอบแบบนี้ ซื้อเพราะเชื่อในการมีปฏิญาณ การมีอุดมการณ์ของสื่อเล่มนั้น....
กลับมามองสื่อของเรา ความคุ้มค่าที่อ่านหนังสือพิมพ์มอยู่ตรงไหน การแถลงข่าวกลายเป็น การส่งข่าวไป ทุกข่าวที่เข้ามาส่วนใหญ่ไม่กรอง ใครว่าอะไรลงหมด นักการเมืองพูดอะไรลงหมด เราเลยไม่ได้ดูว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนจะรู้ทัน มันก็ทำให้การทำหน้าทีเหมือน กระดาษคาร์บอน
บรรณาธิการ ต้องมีการตรวจสอบ คัดกรองเรื่องที่จะนำเสนอ โดยส่วนตัวผมอยากให้สื่อทำเรื่องลึกลับให้เป็นเรื่องโปร่งใส แต่ผมไม่เห็นด้วย ถ้าสื่อจะทำเรื่องลับทุกเรื่องให้เป็นเรื่องเปิดเผย เช่น เรื่องความมั่นคง และเรื่องส่วนตัว แม้จะเป็นเรื่องของบุคคลสาธารณะ ณ วันนี้ อาจถึงเวลาปรับปรุงองค์กรวิชาชีพ เพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป”น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กล่าว
นายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ มองว่า ตลอดการทำงานกว่า 18  ปีในวงการสื่อสารมวล ผมไม่เคยเห็นยุคใดเลยที่แมลงวันตอมแมลงวัน ผมไม่เคยเห็นยุคใดเลยที่วงการสื่อจะถูกตรวจสอบ ถูกตั้งคำถามในเรื่องจริยธรรมและความคิดความเชื่อทางวิชาชีพมากขนาดนี้ “โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อในเรื่องการตรวจสอบ คนทำงานในทุกวิชาชีพสมควรจะต้องถูกตรวจสอบ ไม่ว่าจะในระดับองค์กรสื่อ หรือการตรวจสอบในหมู่สื่อด้วยกันเอง
นอกจากเรื่องการตรวจสอบสื่อแล้ว ผมคิดว่า คุณสมบัติของคนทำสื่อในยุคปัจจุบัน รวมถึงในอีก 10 ปีข้างหน้า จะต้องประกอบด้วยลักษณะ 5 ประการคือ 
1.สื่อควรเป็นผู้ให้การศึกษา ความรู้ความคิดที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทุกครั้งที่เห็นสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีอิทธิพลอย่างมาก นำเสนอข่าวที่ไม่ให้การศึกษาแก่ประชาชน ในทางกลับกัน ยังฉุดให้คนคิดไปในทางต่ำ ผมไม่สบายใจที่เห็นข่าวอาชญากรรมที่พยายามเจาะชอนไชโดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
2.คุณสมบัติของคนทำสื่อยุคนี้ต้องหาความรู้ให้มาก เพราะเป็นต้นทุนในการสื่อสารและให้ความรู้แก่ประชาชน
3.คนทำสื่อต้องทันสมัย เพราะรูปแบบมีเดียเปลี่ยนผ่าน เคลื่อนย้ายไปมาก เราเกิดโซเชียลมีเดีย เราเกิดนักข่าวพลเมือง รวมทั้งทีวีดาวเทียมเป็น 100 ช่อง ทำให้ปริมาณของสื่อเพิ่มขึ้นมาก อย่างที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์สื่อมวลชนไทย ขณะเดียวกันการสื่อสารอย่างรวดเร็วผ่านโซเชียลมีเดีย อาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอว่า ควรเน้นเรื่องความถูกต้อง
4.สื่อควรมีความเป็นกลาง เพราะเมื่อใดที่สื่อเลือกข้างแล้วก็ยากที่จะกลับมาสู่ความเป็นกลาง ความเท่าเทียม ความเสมอภาพ ถึงแม้ว่าความคิดความเชื่อของคนทำสื่อในยุคนี้ อาจบอกว่า สื่อสามารถประกาศตัวได้ว่าสนับสนุน หรือถือข้างใครก็ได้ ตามแนวทางที่ยึดถือกันของสื่อในต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยเรายังไม่พร้อมขนาดนั้น ดังนั้น หน้าที่ของสื่อควรพยายามรักษาความเป็นกลางให้ได้มากที่สุด แต่ความเป็นกลางในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเห็นด้วยกับความชั่ว ความดี ความเลวเท่าๆ กัน แต่อยู่ที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดความเห็นเท่าๆ กัน
5.สื่อต้องมีอุดมการณ์ ซึ่งสำหรับผมแล้ว อุดมการณ์ของคนทำสื่อคือ ต้องมุ่งมั่นอยู่กับความถูกต้อง ข้อมูล ข้อเท็จจริง พยายามสร้างบรรยากาศของความไม่ขัดแย้ง ไม่เป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้ง ประการสุดท้ายต้องพยายามสร้างให้สังคมเป็นสังคมประชาธิปไตย เมื่อเลือกแล้วว่า สื่อมวลชนจะเป็นอาชีพสุดท้ายที่ตนเองจะทำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น