วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554


รองเง็งศิลปะเต้นรำพื้นเมืองของไทยมุสลิม
โดย adam




รองเง็ง หรือรองแง๊ง เป็นศิลปะเต้นรำพื้นเมืองของไทยมุสลิม มีความสวยงามทั้งลีลาการเคลื่อนไหวของเท้า มือ ลำตัว และการแต่งกายคู่ชายหญิง การเต้นรองเง็งมีมาในสมัยโบราณ เป็นที่นิยมในบ้านขุนนางหรือเจ้าเมืองใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ที่บ้านรายายะหริ่ง หรือพระพิพิธเสนามาตย์ฯ เจ้าเมืองยะหริ่งสมัยก่อนการเปลี่ยนเแปลงการปกครอง (พ.ศ.2439 - 2449) มีหญิงสาวซึ่งเป็นข้าทาสบริพาร ฝึกรองเง็งเพื่อไว้ต้นรับแขกเหรื่อในงานรื่นเริง หรืองานพิธีต่าง ๆ
รองเง็งระยะแรก ๆ นิยมกันเพียงวงแคบ ๆ  ต่อมาได้แพร่หลายสู่ชาวบ้าน โดยอาศัยการแสดงมะโย่ง มะโย่งแสดงเป็นเรื่องและมีการพักครั้งละ 10-15 นาที ระหว่างที่พักนั้นจะสลับฉากด้วยรองเง็ง เมื่อดนตรีขึ้นเพลงรองเง็ง ฝ่ายหญิงที่แสดงมะโย่ง จะลุกขึ้นเต้นจับคู่กันเอง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น จึงเชิญชายผู้ชมเข้าร่วมวงด้วย ในที่สุดรองเง็ง จึงเป็นการเต้นรำที่ถูกอกถูกใจชาวบ้าน  
ผู้เต้นรองเง็งส่วนใหญ่แต่งกายแบบพื้นเมือง ผู้ชายสวมหมวกไม่มีปีกสีดำ บางทีศรีษะสวมชะตางัน หรือโพกผ้า นุ่งกางเกงขายาว คล้ายกางเกงจีน แล้วใช้โสร่งแคบ ๆ ยาวเหนือเข่า สวมทับกางเกงเรียกว่าผ้าลิลินัง ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อแขนกระบอก เรียกเสื้อบันดัง ลักษณะเสื้อแบบเข้ารูปปิดสะโพก ผ่าอกตลอด นอกจากนั้นยังมีผ้าคลุมไหล่บาง ๆ สีตัดกับสีเสื้อที่สวม เพลงจังหวะรองเง็งมีผู้รู้จักและนิยมเต้นได้แก่ เพลงตารีกาโรง เพลงบุหงารำไป ดนตรีจะหยุดเมื่อมีการร้องหรือขับ ทำนองเดียวกับการร้องลำตัดหรือเพลงฉ่อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น