คมความคิดจากหนังสือวันที่ถอดหมวก
โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สำนักพิมพ์สามัญชน
“ถ้าคิดแค่ตัวเองหรือกลุ่มตัวเองอยากทำอะไร บางทีมันคิดไม่ออกหรอก แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามเสียใหม่ว่า ในสถานการณ์อย่างนี้ บ้านเมืองต้องการอะไร บางทีอาจจะคิดได้มากขึ้นว่ามีสิ่งไหนบ้างที่ควรทำ”
“แล้วมันต่างกันยังไง ผมไม่เห็นเข้าใจ” ลูกชายผมประท้วง
“ต่างสิ พ่อหมายถึงว่า เธอจะต้องขยายกรอบคิดของตัวเองออกไปให้คลุมทั้งพื้นที่ที่กว้างขึ้น และกาลเวลาที่ยาวนานขึ้นจึงจะมองเห็นปัญหาและทางออกชัดเจนขึ้น จากนั้นจะรู้ว่าตัวเองควรทำอะไร”
“พ่อช่วยยกตัวอย่างหน่อย”
“ได้ ตัวอย่างเช่นคนกลุ่มหนึ่งไม่ชอบหน้าท่านนายกฯและเรียกร้องให้นายกฯลาออก ถึงตอนนี้ พอท่านนายกฯประกาศเว้นวรรค บางคนก็คิดว่าเรื่องจบแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว ขณะที่บางคนยังสนุก ไม่อยากให้จบ แต่ก็นึกไม่ออกว่าควรจะทำอะไรต่อ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะใช้กรอบคิดที่ค่อนข้างจำกัด เห็นแค่ความรู้สึกของตัวเอง หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับนายกรัฐมนตรีเท่านั้น การมองปัญหาแบบนี้ด้านหนึ่งก็ทำให้มองข้ามสาเหตุทางสังคมที่ทำให้คุณทักษิณขึ้นมากุมอำนาจ กระทั่งมองข้ามความเป็นมาเชิงโครงสร้างของปัญหาผู้นำการเมือง และอะไรๆ อีกหลายอย่าง ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เน้นหนักในการต่อต้าน เกลียดชังตัวบุคคลจนบางทีล้ำเส้นความถูกต้องเหมาะควรไปเหมือนกัน....
“แต่ถ้าเราขยายกรอบคิดไปสู่การทำความเข้าใจสังคมไทยและการเมืองไทยทั้งระบบ กระทั่งมองให้เห็นการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาด และผลกระทบของยุคโลกาภิวัตน์ เราก็จะเห็นว่า ปัญหาไม่ได้เริ่มที่คุณทักษิณและไม่ได้จบที่คุณทักษิณ ถ้าอยากแก้ไขความโน้มเอียงในเรื่องอำนาจกันจริงๆ ก็คงต้องปฎิรูปกันทั้งสังคม และระบอบการเมืองการปกครองต้องไม่ปล่อยให้มีคนจนเต็มบ้านเต็มเมือง คอยเลือกเศรษฐีขึ้นมากุมอำนาจ จากนั้นไม่ปล่อยให้ผู้กุมอำนาจทำอะไรก็ได้โดยปราศจากกระบวนการตรวจสอบ...มองจากมุมนี้แล้ว เรื่องที่ต้องทำมันมากมายเหลือเกิน อีกทั้งยังไม่รู้ว่าจะไปจบลงเมื่อไหร่”
“ครับๆ ผมพอจะเข้าใจแล้วครับ” เจ้าหนูคนเล็กของผมพยักหน้าพลางฉายแววตาท้อแท้ ซึ่งผมเดาไม่ถูกเหมือนกันว่าเขารู้สึกเหนื่อยใจกับพ่อหรือปัญหาบ้านเมือง
“จำไว้ก็แล้วกัน” ผมกล่าวแบบสรุปรวบยอด “ทุกครั้งที่มีปัญหาแล้วคิดอะไรไม่ออก เธอต้องขยายกรอบคิดให้กว้างออกไป ขยายกรอบเวลาในความคิดให้ยาวนานขึ้น แล้วจะมองเห็นทางออกเอง”
พูดตรงๆตอนคุยกับลูกผมไม่ได้เตรียมถ้อยคำเอาไว้ล่วงหน้า มิหนำซ้ำยังไม่รู้ชัดด้วยว่าตัวเองซ้อนวิธีคิดแบบนี้ ไว้ในหัวตั้งแต่เมื่อใด ผมรู้แต่ว่าพอเริ่มตอบคำถามมันก็พรั่งพรูออกมาตอนแรกนึกว่าเป็นผลพวงของการฝึกฝนทางด้านสังคมศาสตร์แต่คิดไปคิดมากลับรู้สึกไม่ใช่
สังคมศาสตร์อาจมีส่วนจัดแต่งภาษาบ้าง แต่รากฐานจริงๆ น่าจะเป็นประสบการณ์ชีวิตผสมกับบทเรียนทางธรรมมากกว่า
นั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมนึกถึงลำแดดเหนือม่านฝน....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น