อาสาสมัครมือที่ปราศจากผลประโยชน์
บนความจำเป็นอย่างหนึ่งของพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม คือคนที่มีจิตอาสา คอยช่วยเหลือพีน้องที่ประสบภัยโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มือนี้สะอาด แต่บนเกมการเมืองมือที่สะอาดเหล่านี้กับหยิบยื่นผลประโยชน์แอบแฝงทางการเมืองกับกลุ่มคนที่มีอำนาจหรือควบคุมกลไกลในการแจกจ่ายเครื่องยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย โดยมีฐานเสียงตัวเองเป็นกรอบในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังจะเห็นได้จากข่าว มีนักการเมืองชื่อนั้นชื่อนี้ ให้การช่วยเหลือ โดยเป็นสิ่งของ ของประชาชนที่รวมกันบริจาคโดยมีอาสาสมัครช่วยในการรวมสิ่งของ และอีกหลายๆเขตที่สิ่งของจากส่วนกลางส่งไปตามเขตต่างๆที่ประสบภัย คนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ จะได้รับการแจกจ่ายก่อนส่วนคนที่อยู่ไกลออกไปจะได้รับน้อยมาก พนักงานเขตชั้นผู้น้อยคนหนึ่งกล่าว อันนี้ยังไม่รวมถึงการตอบโต้ถึงผลประโยชน์ของนักการเมือง ในฝ่ายตรงข้ามของตัวเองและพวกพ้อง ทำให้เกิดการปะทะคารมของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
จากงานเขียนของคุณ วันชัย ตันใน หนังสือพิมพ์มติชน ที่บอกถึงการจัดการน้ำของรัฐบาล นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า คนที่กำหนดให้เส้นทางน้ำไหลไปท่วมทางใดทางหนึ่งนั้น ไม่ใช่นักวิชาการ วิศวกร หรือผู้เชี่ยวชาญทางน้ำหรอก แต่เป็นนักการเมืองล้วน ๆ ช่วงเวลาก่อนที่กองทัพน้ำก้อนมหึมาจะมาไหลเอ่อท่วมจังหวัดภาคกลาง มีการออกกำลังภายในของนักการเมืองรุ่นใหญ่ สั่งให้กรมชลประทานผันน้ำไปในทิศทางตรงข้ามกับจังหวัดของตัวเอง เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมที่นาของชาวบ้านเขตฐานเสียงของตัวเอง เพราะยังเกี่ยวข้าวไม่เสร็จ โดยไม่ได้สนใจองค์ความรู้เรื่องการจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยภาพรวมเลย ตอนนั้นเราจึงได้เห็นน้ำท่วมที่นาหลายจังหวัด บางจังหวัดท่วมพอเป็นพิธี แต่พอเกี่ยวข้าวเสร็จ ปริมาณน้ำมหาศาลก็ไหลท่วมจังหวัดเหล่านี้โดยเท่าเทียมกัน เพราะสุดท้ายแล้วแนวกั้นน้ำเหล่านี้ที่สร้างอย่างไม่ถูกหลักวิชา ก็พ่ายแพ้ต่อแรงดันมหาศาลของกองทัพน้ำที่หลั่งไหลไปสู่พื้นที่ต่ำ
ดังนั้นการจัดการปัญหาอุทกภัยที่เรากำลังเผชิญทุกวันนี้ เป็นเรื่องของความเข้าใจ เป็นเรื่องของการใช้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องบวกกับความสามารถในการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ แต่ทุกวันนี้ภาพที่ปรากฎทางหน้าจอทีวี ตอนรายงานข่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. รอบข้างคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของเรา แทนที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ วิศวกรทางน้ำคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด กลับท่วมท้นไปด้วยหน้าตาบรรดานักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ชูหน้ากันสลอน แทบไม่มีใครมีความรู้ความชำนาญแก้ปัญหาภัยพิบัติที่คนไทยต้องเผชิญอยู่เลยกองทัพน้ำตั้งแต่นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี อยุธยา ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี จึงตีด่านกั้นน้ำทุกด่านแตกกระจุย รัฐบาลใช้คนผิดในการแก้ปัญหาอันสลับซับซ้อน การประเมินสถานการณ์ของรัฐบาลจึงผิดพลาดมาโดยตลอด บ่อยครั้งที่เราจึงมักจะได้ยินเสียงใส ๆ ว่า “ ขอแสดงความเสียใจ”หลายครั้งที่กรมชลประทาน หน่วยงานที่มีความรู้ความชำนาญในการจัดการน้ำมากที่สุดของประเทศ ได้แนะนำแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแก่รัฐบาล ไม่ว่าจะการปิดประตูน้ำตรงคลองนี้ เปิดประตูน้ำตรงคลองนี้ เพื่อระบายน้ำจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ยอมปล่อยให้บริเวณนี้ท่วม เพื่อรักษาอีกบริเวณหนึ่ง โดยพิจารณาจากความสำคัญของพื้นที่ และรัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพื้นที่ที่ยอมเสียสละอย่างเต็มที่แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่กล้าตัดสินใจอะไร เพราะกลัวจะกระทบฐานเสียงของสส.ในสังกัด คนนั้นหรือคนนี้ จนสุดท้ายน้ำก็เอ่อล้นท่วมนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ค่าเสียหายทวีความรุนแรงหลายแสนล้านอย่างน่าอดสู เพราะการไม่กล้าตัดสินใจของรัฐบาล
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องความทุกข์ ความเสียสละ และการให้โอกาสรัฐบาลทำงานแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม กรณีศึกษาประชาชนในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 1,457 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28-29 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.4 รู้สึกเบื่อหน่าย เครียดและวิตกกังวล เป็นความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วม ขณะที่ร้อยละ 76.9 ระบุว่า ไม่สะดวกในการเดินทาง ร้อยละ 66.8 ไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 58.5 อาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรคมีไม่เพียงพอ และร้อยละ 38.9 กำลังขาดรายได้
นอกจากนี้ ร้อยละ 74.9 ระบุว่า ความช่วยเหลือของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต่อประชาชนผู้ประสบภัยไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตามร้อยละ 61.9 ยังให้โอกาสน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมต่อไป แต่สิ่งที่ต้องการให้นายกฯสั่งการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน พบว่า ร้อยละ 73.3 ปรับปรุงการทำงานของตำรวจ ไฟฟ้า น้ำประปา เป็นการเร่งด่วน ร้อยละ 70.2 ช่วยเหลือให้ทั่วถึง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ช่วยเฉพาะกลุ่มหัวคะแนนของตน ร้อยละ 68.4 แก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ขาดตลาด ร้อยละ 65.0 ติดตามจับกุมมิจฉาชีพ คนร้ายลักทรัพย์ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติให้ได้ ร้อยละ 61.5 เรียกร้องให้ปรับปรุงการทำงานของศูนย์ Hot Line ให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านต่างๆ ร้อยละ 58.1 ลงพื้นที่เข้าถึงชาวบ้าน และร้อยละ 52.4 แก้ปัญหาขาดรายได้ การประกอบอาชีพของประชาชน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สิ่งดีๆ ที่ประชาชนพบเห็นในภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.4 ระบุความช่วยเหลือเกื้อกูล ความมีน้ำใจของคนในชาติ รองลงมาคือร้อยละ 76.3 ความเสียสละ ร้อยละ 73.5 ความอดทน ร้อยละ 70.9 ความสามัคคี และร้อยละ 69.5 ความรักและการแบ่งปัน ตามลำดับ นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 40.6 เริ่มมีความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 22.8 เชื่อมั่น ร้อยละ 23.9 ไม่ค่อยเชื่อมั่น และร้อยละ 12.7 ไม่เชื่อมั่น ตามลำดับ
.
น้ำท่วมครั้งนี้เราเห็นน้ำใจการคนไทยที่คอยช่วยเหลือคนที่ประสบภัยอย่างมากมาบ... น้ำท่วมครั้งนี้เราเห็นผลประโยชน์แอบแฝงของนักการเมืองบางคน... น้ำท่วมครั้งนี้ เราเห็นความสับสนในการสื่อสารระหว่างรัฐบาล กับภาคประชาชน ....น้ำท่วมครั้งนี้เราเห็น รอยยิ้มของคนที่ได้ผลประโยชน์และคราบน้ำตาของคนที่กำลังเดือดร้อน....น้ำท่วมครั้งนี้สอนบทเรียนอะไรบ้างกับคนไทย...น้ำท่วมครั้งนี้เป็นบทเรียนราคาแพงของประเทศไทย เราคนไทยได้อะไรจากบทเรียนนี้......
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น