ไม่รีบและไม่ช้า @ เมืองน่าน
เรื่อง อดัมชินจัง
Carl Honore กล่าวว่า “เราได้สูญเสียศิลปะแห่งการอยู่เฉยๆ
ศิลปะแห่งการทำตัวให้เนิบช้าและการอยู่ตามลำพังกับความคิดของเราเอง”
“วัฒนธรรมความเร็ว” น่าจะเริ่มกัดกินมนุษย์มาตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อสัก
200 ปีก่อนแล้วค่อยๆสมทบด้วยการเกิดขึ้นของเมืองใหญ่บวกกับความก้าวล้ำด้านเทคโนโลยีทำให้มนุษย์เร่งรีบอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนตกอยู่ใน
“ความขัดสนเวลา” หรือ time poverty ยิ่งเมื่อโลกขับเคลื่อนด้วยระบบ
“ทุนนิยมติดเทอร์โบ” ด้วยแล้วมนุษยชาติควร “บริโภคผลิตและทำงานด้วยจังหวะก้าวที่สมเหตุสมผลมากกว่านี้” ซึ่งคำว่า “จังหวะก้าวที่สมเหตุสมผล” ย่อมไม่ได้แปลแค่ว่า “ช้า” เสมอไปตอนหนึ่งจากหนังสือ
รีบไม่ว่าช้าให้เป็น
การใช้ชีวิตแบบ Slow มันเป็นความคิดที่ต่อยอดมาจาก slow food ที่นาย Carlo
Petrini ชาวอิตาลีมีความคิดว่าทำไมคนอิตาลีประเทศที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์มีอากาศดีมีธรรมชาติสวยงาม
ต้องมาบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณค่าอะไรกับร่างกายแต่ได้ความเท่ห์โง่ๆ จากการโฆษณาและการตลาดที่ล้างสมองคน ในเมื่อมีคนคิดฟาสต์ฟู้ดได้ ตัวแกก็เลยสวนไอเดีย
Slow
food โดยแนวคิดนี้ก็คือการกินอาหารแบบไม่ต้องรีบเร่ง
ไม่ต้องเร่งด่วนอะไรมากมาย เน้นความเพลิดเพลินจากการให้ลิ้นสัมผัสกับรสชาติอาหาร ปรุงอาหารจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในท้องถิ่น
เน้นความใหม่สดปลอดสารพิษและเป็นอาหารที่มีอยู่ในวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากจะเป็นเรื่องดีกับคนกินแล้วยังเป็นเรื่องดีกับชาวบ้านในท้องถิ่นอีกด้วย
เพราะผลผลิตต่างๆ ก็ สามารถนำมาขายเพื่อปรุงเป็นอาหารสโลว์ฟู้ด จนเกิดเป็นเครือข่ายเกษตรกรที่ปลูกผัก
และทำปศุสัตว์เพื่อป้อนวัตถุดิบเข้าสู่วงจรการผลิต นอกจากนี้แล้วแนวคิดนี้ก็พัฒนาต่อมาเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวที่เรียกว่า
Slow
Travel ในเมืองไทยก็มีหน่วยงานรัฐที่ชื่อว่าองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
(องค์การมหาชน) มีเป้าหมายเพื่อกำหนดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อย่างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หน่วยงานนี้ก็ได้นำแนวคิดนี้มาบอกเล่า
แต่เรียกเป็นคำไทยเท่ห์ๆ ว่า การท่องเที่ยวแบบละเลียด หรือ ละเลียดทัวร์
เมืองน่านเป็นหนึ่งในเมืองที่ อพท .ประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ในชื่อ พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน
ถ้าเอ่ยถึงเมืองน่าน หลายคนคงนึกถึง ‘ปู่ม่านย่าม่าน’
ภาพจิตรกรรมฝาผนังตำนานกระซิบรักที่วัดภูมินทร์ และวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่รายล้อมตัวเมือง
รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และความหลากหลายของชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัดน่าน
น่านเมืองในหุบเขาเป็นเมืองที่มีความเงียบสงบ อากาศดีและยังคงมีความเป็นวิถีชุมชนที่แข็งแรงเมืองหนึ่งในประเทศไทย
การได้มาท่องเที่ยวพักผ่อนแบบเนิบช้าที่น่าน นับว่าเป็นการเติมไฟในการทำงานที่ดี
จากการติดต่อพี่บัวคำ สายธา หนึ่งในผู้ประสานงานการท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ่อสวก
ซึ่งทำให้มีโอกาสได้พักโฮมสเตย์ของคนในชุมชน โดยมีลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้น
ตั้งอยู่กลางทุ่งนาสีเขียวสด ดูแล้วสบายตา ความที่บ้านตั้งอยู่กลางทุ่งนา
ลมจึงสามารถพัดเอาความเย็นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานตลอดวัน
การมาบ่อสวกเที่ยวนี้ ทำให้ผมไม่ต้องโหยหาอะไรเพิ่มอีก ชุมชนที่โอบล้อมด้วยภูเขา
โดยมีทุ่งนาทอดยาวไปไกลทำให้มองแล้วสบายตา
ร้านค้าเล็กๆ ในหมู่บ้าน มีของใช้พื้นบ้านอยู่ไม่มากนัก และมีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนตั้งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน
ผมจำชื่อวัดไม่ได้ ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นวัดป่า ชาวบ้านส่วนใหญ่จะรู้จักกันหมด
ช่วงนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังทำนา และที่น่านยังมีประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว ที่ยังหาดูได้
ในชุมชนแห่งนี้ โดยมีเจ้าของนาที่จะทำนาเดินมาบอกคนตามบ้าน ต่างๆว่าจะดำนาของตัวเอง
บ้านนี้หนึ่งคน บ้านนี้สองคน หลายๆ บ้านก็เป็นคนหลายสิบคน มาช่วยทำนา ไม่มีสินจ้างที่เป็นเงิน
มีแต่ข้าวปลาอาหารเลี้ยง การดำนา เป็นขั้นตอนที่ง่ายแต่ต้องอาศัยความอดทนในการทำ
เท้าที่ย่ำไปบนดิน หลังที่หันสู้แดด เมื่อเสร็จจากการดำนา
หลายคนก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ต่างคนต่างมีวิถีที่เรียบง่าย ในแบบฉบับของตัวเอง ชีวิตที่เนิบช้ายังคงดำเนินต่อไป
โดยมีผมเฝ้ามองวิถีที่ละเลียดของคนชุมชนอย่างอิจฉา
อาหารไม่มีสารพิษหรือสารเร่งให้โตไว
อากาศก็สดชื่น หายใจโล่งจมูก จังหวะในการดำเนินชีวิตคนที่นี้ไม่รีบและไม่ช้า
สิ่งนี้ที่เรียกว่าวิถีแห่งการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง คนเมืองอย่างเราขาดและหลายคนกำลังโหยหาอยากจะมี
ผมใช้จ่าย เงินไม่มากสำหรับการมาพักที่ ต.บ่อสวก แห่งนี้
คืนนั้นที่บ้านพัก ผมหลับลงอย่างมีความสุข เสียงเพลงของจิ้งหรีดเรไรดังอยู่กลางทุ่ง
สายลมพัดมาเอื่อยๆ บนท้องฟ้ามีดาวเรียงรายอยู่มากมาย ถ้าใครอยากย้อนเวลากลับไปหาบรรยากาศเก่าๆ
ของวิถีชีวิตไทยเมื่อสัก 30 หรือ 40 ปีที่แล้ว เมืองน่านแห่งนี้น่าจะเป็นคำตอบได้ดี ผมเชื่อแล้วว่าคนเมืองอย่างเราขาดศิลปะแห่งการทำตัวให้เนิบช้าตามที่นาย
Carl
Honore บอก