วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


คอลัมน์คุยกับกรุงเทพฯ
โดย อดัมชินจัง
                                                 


                                         กรุงเทพฯของใคร......



           เราเห็นความงามไม่เท่ากัน คนเราต่างกันที่ความคิดและความรู้สึก..... ผมเปิดประโยคสนทนากับเพื่อนหนุ่ม มันเป็นประโยคสนทนาสั้นๆระหว่างเพื่อนกับเพื่อน เพื่อนผู้พิสมัยความงามแบบฉาบฉวยจับต้องสัมผัสได้เพียงภายนอกที่ได้พบเห็น และชอบตัดสินสิ่งที่เห็น ว่าดีหรือเลว  ชอบหรือรังเกียจ สวยงามหรือสกปรก  มันเป็นประโยคสนทนาเริ่มต้นและเป็นประโยคจบในคราวเดียวกัน ความเงียบเข้ามากั้นระหว่างเรา ความคิดกำลังทำงานในการรับรู้ผ่านสายตาที่บอกถึงความงามของเราไม่เท่ากัน ในการมองสังคมและการตัดสินตามความคิดเพียงฝ่ายเดียว และแคบ
พ.ศ.2555...  กรุงเทพฯของคนเก็บขยะ...เป็นการทำงานบนซากข้าวแกงเน่าบูด คราบเสลด ขี้บุหรี่  และสิ่งของไร้ค่าของคนเมือง มันสร้างอาชีพได้ เสียงของคนเก็บขยะบอกกับตัวเอง ทุกที่ล้วนมีขยะผมเห็นขุมทรัพย์จากกองขยะ ถ้าโชคดี วันนี้คงได้ตุ๊กตาแขนหักไปฝากไอ้หนูแดง...  กรุงเทพฯของคนขับรถแท็กซี่เป็นการทำงานบนสายตาที่ว่องไวเหมือนเหยี่ยวหลังพวงมาลัยในการรับผู้โดยสายและขาที่คอยเยียบหรือถอนคันเร่ง เป็นเรื่องปกติถ้าผมจะหักพวงมาลัยรับผู้โดยสารโดยลืมมองรถที่ตามมา ประการต่อมาล้อรถต้องเล็กเพื่อรอบมิเตอร์จะได้เพิ่มเร็วขึ้น มันเป็นการทำงานแข่งกับเวลา เวลากะของผมมันหมายถึงเงินค่าเช่ารถ  ค่าข้าว ค่าบุหรี่ และลูกเมียที่คอยสวดมนต์ว่าวันนี้พ่อคงโชคดีไม่โดนโจนปล้นเวลาและชีวิต...กรุงเทพฯของคนขายน้ำอ้อยเป็นการตัดพ้อต่อโชคชะตาที่ต้องมาเจอกับเทศกิจในเวลางาน   มันไม่ให้ผมขาย มันจับและปรับ แล้วผมจะอยู่อย่างไร สักวันถ้าผมเหลืออด ผมจะตีมันด้วยขวดใส่น้ำอ้อยให้หายแค้นเป็นความคิดของคนขายน้ำอ้อย.... กรุงเทพฯของตำรวจจราจรเป็นการตั้งด่านกวดขันวินัยของผู้ขับรถมันหมายถึงเงินค่าปรับแต่ผมลืมบอกว่าวินัยมันสร้างที่โรงเรียนและฝังจบอยู่ในนั้น พ.ศ.นี้หลายคนลืมว่าเคยมีวินัย...กรุงเทพฯของนักหนังสือพิมพ์เป็นการเขียนข่าว PR องค์กรหรือตัวบุคคล ให้ดูแนบเนียนมากกว่าอุดมการณ์ของนักหนังสือพิมพ์...ก็มันทำให้หนังสือของผมอยู่รอดนี่หว่าเสียงจากบรรณาธิการหลังแป้นพิมพ์ขณะจิบไวน์คาราแพงที่เป็นของกำนัลบริษัทPR...และหลายๆตัวละครของกรุงเทพฯที่น่าทำความรู้จักในพ.ศ.นี้หรือ พ.ศ. ไหน มันเป็นตัวละครที่น่ารักและผมจะบันทึกตัวละครเหล่านั้นผ่านหน้ากระดาษแห่งนี้ไม่ให้มันดูว่างเปล่าเพื่อส่งผ่านไปยังผู้อ่านในการทำความรู้จักกับกรุงเทพเมืองหลวงของประเทศไทย
กรุงเทพฯ พ.ศ.นี้ของผมต่างจาก พ.ศ.ของคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ ผู้เป็นครูสอนชั้นเชิงในการมองชีวิตคนกรุงผ่านงานเขียน  กรุงเทพฯรจนา  แต่กรุงเทพฯก็ยังเย้ายวนให้ผมหลงใหลในบางห้วงเวลา.... จอดให้ผมลงหน่อยกรุงเทพฯผมจะลงไปคุยกับคุณ....





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น